Site icon WebsiteGang

ภัยคุกคามของการทำธุรกิจบน Social Media

Social Media scam

โลกดิจิทัลทำให้ชีวิตประจำวันของเราสะดวกสบายมากขึ้น การติดต่อสื่อสารเป็นไปได้โดยง่าย เพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง หรือคนไม่รู้จักก็สามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันการทำธุรกรรมออนไลน์มีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเทคโนโลยีที่ทำให้ทุก ๆ คนก็สามารถที่จะกลายเป็นผู้ซื้อและผู้ขายผ่านทาง Social Media ได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงธุรกิจ E-Commerce ที่สนับสนุนให้กับผู้ซื้อและผู้ขายสามารถติดต่อพูดคุยกันได้ง่ายขึ้น

โดยการทำธุรกรรมออนไลน์มีหลายรูปแบบ เช่น พรีออเดอร์ (การสั่งซื้อสินค้าต่างประเทศโดยจ่ายเงินก่อนนัดส่งสินค้า) การซื้อขายตาม Social Media เช่น Facebook , Instagram หรือ Line@ แต่ความสะดวกสบายนี้ก็มีอันตรายแฝงมาด้วย โดยเป็นเครื่องมือที่ช่วยทำให้มิจฉาชีพที่อยู่ไกลจากเหยื่อสามารถเข้าใกล้เหยื่อได้โดยง่ายหากไม่ระมัดระวัง ในมุมของผู้ประกอบการนั้น Social Media ทำให้เราเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ง่ายขึ้น ในที่นี้ผมจะขอยกตัวอย่างแพลตฟอร์ม Facebook ซึ่งแทบจะทุกคน(คนไทยประมาณ 55 ล้านคน) ที่ใช้แพลตฟอร์มนี้ในการติดต่อสื่อสาร แชร์เรื่องราวต่างๆ แสดงความเป็นตัวตน และแน่นอนหลายคนใช้ Facebook ในการทำธุรกิจ เนื่องจากสะดวก เข้าถึงลูกค้าได้ง่าย แต่ในความสะดวกนั้นยังมีช่องโหว่ให้มิจฉาชีพเข้ามาหาผลประโยชน์ได้ ขอยกตัวอย่างกรณีศึกษากรณีหนึ่ง มีผู้ประกอบการรายหนึ่ง ทำธุรกิจสถาบันกวดวิชาและใช้ Facebook ในการติดต่อสื่อสารและเก็บข้อมูลลูกค้า ผู้ประกอบการรายนี้มีข้อมูลลูกค้าเกือบ 40,000 คนในแฟนเพจ สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำให้แก่เขา ซึ่งกว่าผู้ประกอบการรายนั้นจะมีลูกค้ามากขนาดนี้เค้าต้องใชความรู้ในการหารายได้ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีและเงินในการลงทุนไปไม่น้อย แต่แล้ววันหนึ่งทุกอย่างก็หายวับไปกับตา เมื่อผู้ประกอบการรายนี้ถูกแฮกเกอร์แฮกข้อมูล เขาไม่สามารถเข้าไปในเพจของตัวเองได้ เพราะแฮกเกอร์เข้ามาเปลี่ยนรหัสทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว แฮกเกอร์เข้ามาควบคุมเพจแทนเขาและเอาข้อมูลลูกค้าทั้งหมดไป เขาได้แต่นั่งมองเพจของตัวเอง มองกลุ่มลูกค้าที่ตัวเองเพียรพยายามสร้างมากับมือถูกนำไปขายโดยที่ไม่สามารถทำอะไรได้เลย ทุกอย่างกลายเป็นศูนย์เหมือนโลกทั้งใบกำลังถล่ม และที่แย่ไปกว่านั้นคือเขาไม่ได้สำรองข้อมูลลูกค้าทั้งหมดไว้ทำให้เขาไม่สามารถติดต่อกับลูกค้าได้อีกเลย

จากกรณีศึกษานี้ทำให้เราเห็นบทเรียนอันหนึ่งว่าการทำธุรกิจบน Social Media เพียงอย่างเดียวนั้นมีความเสี่ยง

เสี่ยงกับการยืมจมูกคนอื่นหายใจ เสี่ยงกับสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ เสี่ยงกับการฝากชีวิต และฝากธุรกิจไว้กับคนอื่น แล้วถ้าไม่ทำธุรกิจผ่าน Social Media แล้วจะให้ไปทำธุรกิจที่ไหนล่ะ ดังสุภาษิตที่ว่าไว้ว่า “Don’t put all your eggs in one basket” หรือ “อย่าใส่ไข่ทั้งหมดของคุณไว้ในตระกร้าใบเดียว” ยิ่งเป็นตระกร้าที่เรียกว่า Social Media ที่เป็นเหมือนบ้านเช่าแล้วนี่ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะฉะนั้นผมขออนุญาตเสนอตระกร้าใบอื่นที่มันแข็งแรง และยั่งยืนกว่าให้คุณบ้างแล้วกันนะครับ ผมไม่ได้บอกว่าห้ามคุณทำธุรกิจบนโลก Social Media นะครับ แต่ผมจะเสนอทางเลือกที่สามารถทำควบคู่กันไปได้เพื่อปิดความเสี่ยงนั่นก็คือการมีเว็บไซต์ ผมขอฟันธงเลยว่าธุรกิจที่อยากอยู่อย่างยั่งยืนบนโลกออนไลน์ต้องมีเว็บไซต์ควบคู่ไปกับ Social Media เพราะอะไรเหรอครับ มีเว็บไซต์ เท่ากับเรามี “Data” อยู่ในมือ
Data คือ ข้อมูลที่เก็บผ่านเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย การเก็บผ่านแบบฟอร์มต่างๆ ซึ่งอาจจะเป็นข้อมูลการซื้อสินค้าผ่านหน้าเว็บไซต์ของเรา ข้อมูลพฤติกรรม ความสนใจ อายุ เพศ สินค้ายอดนิยม ภูมิศาสตร์ เทคโนโลยี ข้อมูลเหล่านี้เราสามารถนำไปต่อยอดทำการตลาดออนไลน์ได้ ดังกรณีศึกษาของเจ้าของธุรกิจกวดวิชาที่คุณอ่าน เขาพลาดอย่างมากที่ไม่มีเว็บไซต์ เมื่อ Facebook โดนแฮกจึงไม่เหลืออะไรเลย และเมื่อเรามีข้อมูลของกลุ่มลูกค้า และเข้าใจกลุ่มเป้าหมายของเรา หมายความว่าเราสามารถนำเสนอสินค้าที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ช่วยเพิ่มโอกาสในการปิดการขายได้มากขึ้น เครื่องมือการเก็บข้อมูลสำหรับเว็บไซต์ ช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูล ที่นิยมใช้กัน คือ Google Analytics เป็นเครื่องมือที่เก็บข้อมูลได้ละเอียดมากๆ สามารถใช้งานได้ฟรี อย่างน้อยๆ การที่เรามี Data ของกลุ่มเป้าหมายของเรา ทำให้เรารู้ว่าลูกค้าสนใจอะไรบ้าง สินค้าหรือบริการอะไรของเรา ที่ลูกค้ามักจะถามหาบ่อยๆ สามารถเอาข้อมูลสำคัญตรงนี้ มาวิเคราะห์ต่อว่า สินค้าตัวไหนที่เราควรเน้น และควรสต็อคของเก็บไว้

ความเป็นเจ้าของ
การมีเว็บไซต์เป็นของตัวเองนั้น คุณสามารถมีโดเมน (ชื่อเว็บไซต์) และเซอร์เวอร์ (สถานที่เก็บเว็บไซต์) เป็นของคุณได้ ระหว่างคำว่า “เป็นเจ้าของ” กับ “ไม่ได้เป็นเจ้าของ” ผมว่ามันต่างกันเยอะมากเลยนะครับ
ป.ล. จริงๆ แล้วการใช้คำว่าเป็นเจ้าของเซอร์เวอร์ อาจจะไม่ถูกนัก เพราะส่วนใหญ่แล้วคนก็มักจะเช่าเซอร์เวอร์เอาเหมือนกัน แต่บริษัทที่เป็นเจ้าของเซอร์เวอร์ที่คุณเช่าอยู่นั้น จะไม่มีสิทธิ์มาเปลี่ยนแปลงอะไรบนเว็บไซต์ของคุณทั้งนั้น และถ้าคุณไม่พอใจ คุณจะย้ายออกเมื่อไหร่ก็ได้ครับ

ความยืดหยุ่น
คุณสามารถสร้าง และออกแบบเว็บไซต์ให้เหมาะสมกับจุดประสงค์ในการทำธุรกิจของคุณได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขาย หรืออื่นๆ ในขณะที่ Social Media ต่างๆ ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อขาย Facebook ถูกสร้างมาเพื่อให้คุณเชื่อมต่อกับเพื่อนInstagram ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้คุณแบ่งปันรูปภาพ และ LINE ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้คุณพูดคุยกับเพื่อน

ความคุ้มค่าในระยะยาว
การที่คุณสนใจทำธุรกิจบนโลกออนไลน์ผมคิดว่าคุณน่าจะเป็นคนที่เชื่อในการสร้างคอนเทนต์เพื่อส่งมอบคุณค่าให้กับกลุ่มเป้าหมายอยู่ไม่มากก็น้อยแน่ๆ ซึ่งการที่มีเว็บไซต์นั้น จะทำให้คุณค่าที่คุณส่งมอบออกไปอยู่นานมากยิ่งขึ้น เพราะอายุเฉลี่ยของโพสต์บน Social Media ต่างๆ จะอยู่ที่ราวๆ 2-7 ชั่วโมง ในขณะที่บทความบนเว็บไซต์นั้นจะอยู่ได้เป็นหลักเดือน หรือปี โดยการที่ถูกค้นหาผ่าน Google ครับ สำหรับคอนเทนต์บนเว็บไซต์ ตราบใดที่คอนเทนต์คุณติด Google แล้ว และยังมีคนอยากรู้ในเรื่องที่คุณพูดถึงอยู่ คอนเทนต์นั้นๆ ของคุณจะไม่มีวันหมดอายุเลยครับ

สรุป
Social Media ก็ยังคงเป็นช่องทางที่สำคัญ และเป็นช่องทางที่คนที่อยากทำธุรกิจบนโลกออนไลน์ควรจะพาตัวเองเข้าไปอยู่ แต่ Social Media ไม่ควรเป็นเพียงช่องทางเดียวในการทำธุรกิจของคุณเพราะว่าคุณไม่ได้เป็นเจ้าของ และยิ่งนานวันไป การทำธุรกิจบนโซเชียลมีเดียจะยิ่งยากขึ้นเรื่อยๆ การผสาน Social Media กับเว็บไซต์จะเป็นวิธีที่สำคัญที่จะทำให้ธุรกิจของคุณเติบโตขึ้น และอยู่ได้ในระยะยาว

บทความโดย ดร.พรหมพิริยะ วิทยาการภาโภคิน

ข้อมูลอ้างอิง

  1. https://www.cyfence.com
  2. https://www.bot.or.th
  3. https://www.teeneeweb.com
  4. https://contentshifu.com
Exit mobile version